

ปุ๋ย คือ
พืชที่ขึ้นบนพื้นดินจะได้รับธาตุอาหารพืชส่วนใหญ่จากดินนอกเสียจากธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ที่พืชได้รับมาจากน้ำและอากาศ ตลอดเวลาพืชจะดูดธาตุอาหารไปจากดินหรือวัสดุปลูก(media) เพื่อนำไปสร้างส่วนต่างๆ ของลำต้นและให้ผลผลิตออกมา ปริมาณธาตุอาหารที่พืชดูดไปใช้จึงมีมากมายมหาศาล ในขณะที่การสร้างเพิ่มเติมหรือการทดแทนตามธรรมชาติเกิดขึ้นไม่มาก และขณะเดียวกันก็มีการชะล้างธาตุอาหารพืชออกไปจากดินได้มาก ทำให้ธาตุอาหารพืชในดินลดน้อยลงไป ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องให้ธาตุอาหารพืชเพิ่มเติมให้กับพืชเพื่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตตามปกติ สารที่ให้ธาตุอาหารที่ใส่ลงไปให้กับพืชเรียกว่าปุ๋ย (fertilizer) ดังนั้นปุ๋ย หมายถึงสารที่ใส่ลงไปในดินหรือวัสดุปลูกพืชอื่นๆ เพื่อต้องการที่จะให้ธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแทสเซียม และหรือธาตุอาหารอื่นเพิ่มเติมแก่พืชสำหรับใช้ในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ในระดับปกติ
คำจำกัดความเกี่ยวกับปุ๋ย
ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าปุ๋ยไว้ว่า “ปุ๋ยหมายถึงสารอินทรีย์ หรืออนิน ทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นอาหารธาตุแก่พืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใดหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงการเจริญเติบโตแก่พืช”
เกี่ยวกับเรื่องปุ๋ยจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อประโยชน์เพื่อการศึกษาหรือในการใช้เช่น
1) ธาตุอาหารปุ๋ย (fertilizer element) หมายถึง ธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ย เช่นธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแทสเซียม (K)
2) วัสดุปุ๋ย (fertilizer material) หมายถึง วัสดุใดๆ ที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชอยู่ตั้งแต่หนึ่งธาตุขึ้นไป และสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ เช่น ยูเรีย เป็นวัสดุปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจน
3) ปุ๋ยผสม (mixed fertilizer) หมายถึง วัสดุใดๆ ที่มีวัสดุปุ๋ยตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปผสมกันและมีธาตุอาหารปุ๋ยตั้งแต่ 2 ธาตุขึ้นไปเป็นองค์ประกอบหลักของวัสดุนั้น
4) เกรดปุ๋ย (fertilizer grade) หมายถึง การรับประกันปริมาณต่ำสุดของธาตุอาหารปุ๋ยที่มีอยู่ในปุ๋ยชนิดนั้น
โดยจะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของไนโตรเจนทั้งหมด (total N) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (available P2O5) และโปแทสเซียมที่ละลายน้ำ (water soluble K2O)
5) สัดส่วนปุ๋ย (fertilizer ratio) หมายถึง สัดส่วนของ N: P2O5: K2O ที่เป็นเกรดของปุ๋ยแต่ละชนิด เช่น ปุ๋ยเกรด 6-24-6 จะมีสัดส่วนปุ๋ยเป็น 1:4:1 เป็นต้น
6) ปุ๋ยสมบูรณ์และปุ๋ยไม่สมบูรณ์ (complete and incomplete fertilizers) หมายถึง ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารปุ๋ยครบทั้ง 3 ธาตุ และปุ๋ยที่มีธาตุอาหารปุ๋ยไม่ครบทั้ง 3 ธาตุ เช่น อาจมีเพียง 1 หรือ 2 ธาตุ ตามลำดับ
7) ตัวเติมในปุ๋ย (filler) หมายถึง วัสดุหรือสารใดๆ ที่ใช้ผสมลงไปในปุ๋ยผสมเพื่อให้ปุ๋ยผสมมีน้ำหนักครบตามต้องการ สารที่เติมลงไปต้องไม่ทำปฏิกริยากับวัสดุปุ๋ยหรือธาตุอาหารปุ๋ยที่ใช้ เช่น ทรายละเอียด ขี้เลื่อย หรือสารสังเคราะห์อื่นๆ
ประเภทของปุ๋ย
ปุ๋ยที่ใช้กันอยู่ทั่วไปสามารถจำแนกออกได้หลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะยืดถืออะไรเป็นหลักในการแยกตัวอย่างการจำแนกประเภทของปุ๋ย เช่น
ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาสภาพของสารประกอบที่ใช้เป็นวัสดุปุ๋ย
แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
1) ปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีวัสดุปุ๋ยเป็นสารอินทรีย์ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น
2) ปุ๋ยอนินทรีย์ (inorganic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีวัสดุปุ๋ยเป็นสารอนินทรีย์ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น
ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาวิธีการได้มาของปุ๋ย
แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
1) ปุ๋ยธรรมชาติ (natural fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีหรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยกระดูกป่น ปุ๋ยหินฟอสเฟต เป็นต้น
2) ปุ๋ยสังเคราะห์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (synthetic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์หรือผ่านกระบวนการทางเคมี เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น
ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาธาตุอาหารปุ๋ยเป็นหลัก
ตามวิธีนี้สามารถแบ่งปุ๋ยออกได้ 3 ประเภทคือ
1) ปุ๋ยไนโตรเจน (nitrogen fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เลือดแห้ง เป็นต้น
2) ปุ๋ยฟอสฟอรัส (phosphorus fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยหินฟอสเฟต กระดูกป่น เป็นต้น
3) ปุ๋ยโปแทสเซียม (potassium fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารโปแทสเซียมเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยโปแทส
เซียมซัลเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น
ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาเกรดปุ๋ยเป็นหลัก
ตามวิธีนี้สามารถแบ่งปุ๋ยออกได้ 4 ประเภทคือ
1) ปุ๋ยเกรดต่ำ (low grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหาร แต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์
2) ปุ๋ยเกรดปานกลาง (medium grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วอยู่ในช่วง 15-25 เปอร์เซ็นต์
3) ปุ๋ยเกรดสูง (high grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์เป็นธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วอยู่ในช่วง 25-30 เปอร์เซ็นต์
4) ปุ๋ยเข้มข้น (concentrated fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์เป็นธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วเกิน 30 เปอร์เซ็นต์
ตัวอย่างปุ๋ยชนิดต่างๆ ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วปุ๋ยที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์เกรดต่างๆ เช่น 16:20:0, 15:15:15 เป็นต้น
ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่มากมาย ปุ๋ยพวกนี้จะมีธาตุอาหารอยู่ในปริมาณต่ำ แต่จะมีธาตุอาหารต่างๆ มากชนิดครบตามความต้องการของพืช นอกจากการให้ธาตุอาหารแก่พืชแล้วปุ๋ยพวกนี้ยังมีคุณสมบัติในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินได้ดีอีกด้วย ตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น สำหรับรายละเอียดและปริมาณธาตุอาหารของปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติต่างๆ
ปุ๋ยผสม
ปุ๋ยผสม (mixed fertilizer) เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากวัสดุปุ๋ยหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าแม่ปุ๋ยมาผสมกันเพื่อเพิ่มชนิด และปริมาณธาตุอาหารให้แก่พืช หรือให้ได้ปุ๋ยที่มีเกรดต่างๆ เหมาะสมกับการใช้ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากในบางครั้งพืชที่ปลูกอยู่ในสภาพดินฟ้าอากาศและการปฏิบัติดูแลรักษาต่างๆ กัน ทำให้พืชต้องการปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหาร
หลักต่างๆ และไม่มีปุ๋ยที่มีสูตรอาหารต่างๆ จำหน่ายในท้องตลาด จำเป็นจะต้องผสมปุ๋ยขึ้นมาใช้โดยการนำแม่ปุ๋ย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแทสเซียม และหรือวัสดุปุ๋ยอื่นมาผสมกันเพื่อให้ได้สูตรปุ๋ยตามที่ต้องการ